บันทึกการฝึกเลื่อนยศ-ฐานะ รุ่น 35 ปี 2565

ครูและนักเรียนเหล่าทหารปืนใหญ่ รวมทั้ง 3 หลักสูตร

ผู้เขียนเองได้เข้ารับการฝึกศึกษาตามแนวทางการรับราชการของกำลังพลสำรอง (กสร.) เพื่อฝึกเลื่อนยศ-ฐานะ เป็นระยะเวลา 30 วัน ประจำปี พ.ศ. 2565 ในห้วงการฝึกวันที่ 1 – 30 สิงหาคม 2565 ผู้เขียนเองได้เขียนคำร้องไปตั้งแต่ช่วงเปิดรับสมัครช่วง สิงหาคม 2564 ถึง พฤษภาคม 2565 แต่ผู้เขียนเองได้สมัครในช่วงเดือนเมษายนครับ

ในการฝึกครั้งนี้ของผู้เขียนจะเป็นการฝึกในหลักสูตรผู้บังคับหมวด (ปัจจุบันชั้นยศ ว่าที่ร้อยตรี) สถานที่ฝึกจะเป็นที่โรงเรียนการกำลังสำรอง ศูนย์การกำลังสำรอง (รร.กสร.ศสร.) ค่ายธนะรัชต์ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคิรีขันธ์

ฝึกเลื่อนยศ-ฐานะ คืออะไร?

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าการฝึกเลื่อนยศ-ฐานะจะแยกกันระหว่างการฝึกเลื่อนยศและการฝึกเลื่อนฐานะ ในการฝึกศึกษาตามแนวทางการรับราชการของ กสร. ในแต่ละปีจะมีด้วยกัน 3 หลักสูตร ประกอบด้วย

  1. หลักสูตรผู้บังคับกองร้อย (ผบ.กร)
  2. หลักสูตรผู้บังคับหมวด (ผบ.มว.)
  3. หลักสูตรนายทหารชั้นประทวนเลื่อนฐานะเป็นนายทหารสัญญาบัตร (หลักสูตร ส. เป็น น.)

ขยายความกันต่ออีกสักนิดแบบกระชับ ในหลักสูตร ผบ.กร. หรือชั้นนายร้อย คือการฝึกเพื่อเลื่อนยศจาก ว่าที่ร้อยโทเป็นว่าที่ร้อยเอก หลักสูตร ผบ.มว. คือการฝึกเพื่อเลื่อนยศจากว่าที่ร้อยตรีเป็นว่าที่ร้อยโท และหลักสูตรจาก ส. เป็น น. คือฝึกเพื่อเลื่อนฐานะจากยศ ส.อ. หรือ จ.ส.ต. ฯลฯ เป็น ว่าที่ร้อยตรี

ขั้นตอนการสมัคร

  • ขั้นแรกตัวผู้สมัครเองต้องทราบว่าตนเองสังกัดที่มลฑลทหารบก (มทบ.) ที่เท่าไหร่ สมัยก่อนจะเป็นจังหวัดทหารบก (จทบ.) นะครับ ดังนั้นเมื่อทราบ จทบ. แล้วต้องไปหาข้อมูลว่า จทบ. ที่สังกัดปัจจุบันเป็น มทบ. ที่เท่าไหร่ ตัวอย่างของผู้เขียนสังกัด จทบ.น.ศ. (นครศรีธรรมราช) ซึ่งอยู่ มทบ. 41 ดูได้ที่นี่
  • เมื่อทราบสังกัดแล้ว ถัดไปให้ไปติดต่อฝ่ายสรรพกำลัง มทบ. ที่สังกัด เพื่อสอบถามระยะเวลาการเปิดรับสมัครและขั้นตอนการดำเนินการ สำหรับผู้เขียนเองไปที่ฝ่ายสรรพกำลัง ค่ายวชิรวุธ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ด้วยตนเองเลย เนื่องจากผู้เขียนเองคุ้นเคยกับสถานที่บริเวณนี้อยู่แล้ว
  • ใบสมัครของผู้เขียนจะมีด้วยกัน 3 แผ่น ผู้เขียนได้รับจากฝ่ายสรรพกำลัง ค่ายวชิรวุธ ประกอบไปด้วยเอกสารใบสมัคร เอกสาร checklist หลักฐานที่ต้องใช้ และเอกสารแบบวัดร่างกาย

จทบ. ที่สังกัดดูได้จากหนังสือคำสั่งแต่งตั้งยศทหารนักศึกษาวิชาทหาร

เอกสารที่ต้องใช้สมัคร

  • สำเนาใบแต่งตั้งยศครั้งสุดท้าย จำนวน 2 ฉบับ
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน 2 ฉบับ
  • สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน 2 ฉบับ
  • ใบรับรองแพทย์ด้านจิตเวช (รับเฉพาะโรงพยาบาลรัฐเท่านั้น) ฉบับจริง 1 ฉบับ สำเนาเก็บไว้ด้วยก็ดีครับ
  • รูปถ่าย 1 นิ้ว จำนวน 1 รูป (ไม่จำเป็นต้องใช้รูปในเครื่องแบบทหาร)
  • หนังสือยินยอมจากหน่วยงาน จำนวน 2 ฉบับ (เผื่อไว้ สำหรับข้าราชการสำคัญนะครับ ใครไม่มีติดต่อผู้เขียนได้ครับ)
  • สำเนา สด.8 จำนวน 2 ฉบับ (เผื่อไว้)
  • สำเนาคุณวุฒิการศึกษา จำนวน 2 ฉบับ (เผื่อไว้)
  • ใบสมัครที่ได้รับจากฝ่ายสรรพกำลัง จำนวน 3 แผ่นดังกล่าวในข้างต้น

ใบรับรองแพทย์ด้านจิตเวช ของผู้เขียนใช้ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย แนะนำว่าให้ไปโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า แต่เนิ้น ๆ สัก 1 -2 เดือนนะครับ เนื่องจากค่อนข้างใช้เวลานาน แต่ในรุ่นของผู้เขียนมีผู้สมัครท่านนึงใช้ใบหนังสือใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลค่ายวชิราวุธ ธรรมดา ๆ ก็ใช้ได้นะครับ แต่ถ้าให้ชัวว์เป็นใบรับรองด้านจิตเวชดีกว่าครับ

ทาง มทบ. ที่สังกัดเราจะเป็นผู้คัดกรองคุณสมบัติเราคร่าว ๆ และจะส่งเอกสารต่าง ๆ ให้ทางหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.) เป็นผู้พิจารณาอีกที ถ้าผ่านเกณฑ์จะมีหนังสือเรียกพลส่งไปที่บ้าน ตามที่ระบุไว้ในเอกสารการสมัคร (ถ้าเป็นไปได้มีเบอร์ติดต่อเจ้าหน้าที่สรรพกำลัง ของ มทบ. ที่เราสังกัดจะดีมากครับ)

การเตรียมตัว

อย่างที่ทราบกันในการฝึกนี้ใช้ระยะเวลาตลอดหลักสูตรคือ 30 วัน และส่วนใหญ่จะทำงานประจำกันอยู่แล้วดังนั้นสิ่งต้องเตรียมความพร้อมเป็นอันดับแรกคือ เรื่องงาน เรื่องเรียน และเรื่องครอบครัว ว่าเราสามารถที่ไปทำการฝึกอยู่ที่ค่ายตลอดระยะเวลา 30 วันได้หรือไม่ หากมั่นใจแล้วว่าไม่ได้ ขอให้ปฏิเสธการฝึกนี้ไปตั้งแต่ต้นนะครับ ส่วนสุขภาพร่างกาย ถ้าไม่พร้อมก็ไม่ควรมาฝึกนะครับ ไม่งั้นจะเอาเปรียบเพื่อน ๆ ไปเสียเปล่า (เลื่อนยศพร้อมเพื่อน แต่ฝึกน้อยกว่าเพื่อน)

การเดินทาง

วิธีการเดินทางนอกเหนือจากการนำยานพาหนะส่วนตัวไปแล้ว สามารถเดินทางมาได้โดย รถตู้ รถทัวร์ รถไฟ (สถานีวังก์พง) โดยแต่ละเส้นทางจะต้องศึกษาเส้นทางของขนส่งก่อนว่าผ่านตรงหน้าค่ายธนะรัชต์หรือไม่ เมื่อมาถึงหน้าค่ายจะมีรถซาเล้งรับจ้างอยู่แถวประตูทางเข้าหน้าค่าย ให้ถามทหารเวรยามได้ครับ หรือใครต้องการเบอร์โทรรถรับจ้างซาเล้ง ติดต่อผู้เขียนมาได้ครับ รถรับจ้างจะพาเรามาส่งในสถานที่รายงานตัวเลยครับ

วันรายงานตัว

วันที่ 1 สิงหาคม เวลา 7.00 น. จะเป็นวันรายงานตัว โดยในปีนี้จะต้องตรวจหาเชื้อ COVID-19 ก่อนเริ่มดำเนินการทางธุรการต่าง ๆ ต่อไป หากพบเชื้อจะถูกกักตัวที่ค่ายเป็นเวลา 10 วัน หลังจากนั้นจะต้องตรวจสอบรายชื่อที่ทาง มทบ.​แต่ละสังกัดส่งมา​ เมื่อพบรายชื่อจะมีการตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ และรับเครื่องแบบชุดฝึก รองเท้า ถุงเท้า ของใช้จำเป็น ฯลฯ

ในรุ่นของผู้เขียนเองจะไม่สามารถเข้ามาพักในค่ายก่อนล่วงหน้าได้ เนื่องด้วยสถานการณ์ COVID-19 ระบาด จำเป็นที่จะต้องพักอยู่นอกค่ายก่อน ดังนั้นไม่ต้องเข้ามาในค่ายก่อนวันรายงานตัวนะครับ

ในวันรายงานตัวสามารถสวมเครื่องแบบมาได้ หรือถ้าไม่มีเครื่องแบบให้ใส่ชุดสุภาพ (ไม่ได้จริงจังมากครับ) สำหรับทรงผมสามารถมาตัดในค่ายได้ ถ้าโชคดีมีเพื่อนร่วมรุ่นเป็นช่างตัดผม ก็จะได้ตัดเมื่อเวลาว่างตอนอยู่กองร้อยครับ (ไม่ต้องตัดล่วงหน้ามา 2-3 วันนะครับ เดี๋ยวผมจะยาวเร็วไปหน่อยเพราะวันพิธีเปิดทุกคนต้องขาวสามด้านอยู่ดี 🤣)

เอกสารที่ใช้ประกอบการรายงานตัว

  • หนังสือ สด.8 ฉบับจริง (เล่มสีเขียว ของใครหายไปดำเนินการทำใหม่กับสัสดีอำเภอให้เรียบร้อยครับ)
  • คำสั่งเรียกพล ฉบับจริง (สำคัญมาก)
  • เอกสารอื่น ๆ เตรียมเผื่อไว้ตามที่กล่าวไว้ในข้างต้น (ในรุ่นของผู้เขียนไม่ได้ใช้เอกสารดังกล่าวในวันรายงานตัว แต่ควรเตรียมไว้นะครับ)

สิ่งของจำเป็นเอาอะไรไปบ้าง ?

  • เอกสารข้างต้น เตรียมสำเนาไปหลาย ๆ ฉบับหน่อยนะครับ เพราะจะต้องใช้ในการดำเนินเรื่องแต่งตั้งยศ ทางครูปกครองจะมาเรียกเก็บครับ
  • อุปกรณ์ที่ใช้ในการอาบน้ำ สบู่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ยาสระผม ฯลฯ (กองทัพมีแจกให้บางอย่าง)
  • มีดโกนหนวด
  • ชุดอาบน้ำหรือกางเกงอาบน้ำ เลือกแบบแห้งไว ๆ ได้จะดีมาก (ถ้าไม่มีใช้ของที่กองทัพแจก เป็นผ้าขาวม้า)
  • ผงซักฟอก (ถ้าใช้แบบตากในที่ร่มได้จะดีมาก เพราะที่นี่เอาแน่เอานอนกับสภาพอากาศไม่ได้เลย)
  • กะละมังซักผ้า (ถ้าไม่มี ค่อยมาซื้อที่นี่ได้ รวม ๆ กันแล้วติดต่อครูปกครอง)
  • ไม้แขวนผ้า + ที่หนีบผ้า เผื่อไว้สัก 10 อัน
  • อุปกรณ์ขัดรองเท้า
  • ชุดนอน
  • ชุดกุญแจ ไว้ล็อคตู้ล็อคเกอร์ (ไม่มีก็ได้ แต่มีก็จะดีกว่าถ้ามีของใช้ที่มีมูลค่าสูง)
  • ซิ่งผ้า (ถ้าเตรียมไปไม่ได้ รวม ๆ กันแล้วติดต่อครูปกครอง)
  • สายรัดท็อป (ไม่มีก็ได้ แต่ถ้ามีก็จะแต่งเครื่องแบบเนี๊ยบเพิ่มไปอีก 1% ฮ่า ๆ)
  • กางเกงใน เอามาอย่างน้อย 3 ตัว
  • กระดาษทิชชูเช็ดหน้า กระดาษทิชชูเปียก และ cotton bud ไว้ปั่นหู จะเอาใช้หรือไม่ใช้ก็แล้วแต่สะดวก จะมาซื้อที่ค่ายก็ได้เช่นกัน
  • ที่อุดหูกันเสียง อันนี้สำคัญตอนยิงปืน (ผู้เขียนไม่ได้เตรียมไป ตอนยิงปืนหูเหมือนจะแตก 🥲)
  • ในรุ่นของผู้เขียนยังมี COVID-19 ระบาด ดังนั้นถ้ามี ATK ไปด้วยก็จะดีมากครับ เพื่อตวจหาเชื้อ COVID-19 เตรียมไว้สัก 5 ชุด
  • ยาสามัญประจำบ้าน + ยากันยุง (ผู้เขียนได้เตรียมยากันยุงมาแต่ไม่ได้ใช้ ฮ่า ๆ)
  • ปลั๊กพ่วง (ไม่จำเป็นมาก แต่ถ้าใครเอาคอมพิวเตอร์ไปทำงานด้วยก็จะดีมากครับ)

สิ่งของที่ทางกองทัพแจกให้มีอะไรบ้าง ?

  • เครื่องแบบชุดฝึก 2 ชุด (วันแจกจะยังไม่ติดเครื่องหมายมาให้ ในสัปดาห์แรกทางครูปกครองจะดำเนินการให้)
  • หมวกเบเร่ต์พร้อมตราหน้าหมวก 1 ใบ
  • เสื้อซับในคอวี 2 ตัว (ค่อยมาซื้อเพิ่มตอนมาอยู่ที่ค่ายได้)
  • กางเกงกีฬาขาสั้น 2 ตัว
  • ถุงเท้าสีดำและสีขาว อย่างละ 2 คู่ (ค่อยมาซื้อเพิ่มได้)
  • รองเท้าผ้าใบ 1 คู่
  • รองเท้าเดินป่า 1 คู่ (จะเอาไปเองก็ได้ และไม่ต้องกลัวเรื่อง size นะครับ เดี๋ยวครูที่กองร้อยจะจัดหาคู่ที่เราใส่ได้พอดีให้ได้ แต่ในรุ่นของผู้เขียนมีคนได้วันสุดท้ายของการฝึก 555+ คือคนที่ตัวใหญ่ ๆ หน่อยนะครับ size จะมีไม่เยอะ ส่วนของผู้เขียนเตรียมรองเท้า combat มาเอง)
  • รองเท้าแตะ 1 คู่ เป็น free size นะครับ ดังนั้นคนตัวเล็ก ตัวใหญ่ ได้เบอร์เดียวกัน 555+
  • เข็มขัด 1 เส้น
  • อุปกรณ์อาบน้ำ ขันตักน้ำ สบู่ + กล่องใส่สบู่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ผ้าขาวม้า อย่างละ 1 ชิ้น

อุปกรณ์ของใช้ต่าง ๆ นอกเหนือจากนี้ไม่ต้องเตรียมไปนะครับ เอาจริง ๆ นอกเหนือจากนี้จริง ๆ หาเอาได้หน้างานได้ครับ

ค่าใช้จ่ายระหว่างฝึก

ในช่วงของการฝึกจะมีค่าใช้จ่ายส่วนกลางในรุ่นของผู้เขียนเองเริ่มต้นเก็บเงินอยู่ที่ 1,500 บาท และมีเก็บเพิ่มเติมอีก 237 บาทในช่วงท้ายของการฝึก โดยรวมให้เตรียมค่าใช้จ่ายสำหรับส่วนกลางไว้ประมาณ 2,000 บาท โดยค่าใช้จ่ายส่วนกลางนี้หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่ทุกคนในรุ่นต้องจ่ายไม่ว่าจะเป็นค่าเสื้อรุ่น ค่ารูปถ่ายติดบัตร ค่าจัดเลี้ยงโต๊ะจีน ฯลฯ และจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมนอกเหนือจากค่าใช้จ่ายส่วนกลาง เช่น ต้องการแหวนรุ่น เสื้อรุ่นมากกว่า 1 ตัว ฯลฯ โดยรวม ๆ แล้วเตรียมค่าใช้จ่ายทั้งหมดไว้สัก 8,000 บาท

ในการฝึกเราจะได้เงินเป็นค่าตอบแทนด้วย แต่จะได้รับ (เป็นเงินสด) ในวันสุดท้ายของการฝึกหรือในวันทำพิธีการปิดจบหลักสูตรโดยแต่ละคนอาจจะได้ไม่เท่ากัน ของผู้เขียนเองทำงานในภาคเอกชนได้เงินเต็มจำนวนรวม ๆ แล้ว 9,410 บาท ประกอบไปด้วยค่าตอบแทนเงินเดือน (ตามชั้นยศ) ค่าพาหนะเหมาจ่าย ค่าเบี้ยเลี้ยง (วันมาและวันกลับ) ค่าเลี้ยงดู

การฝึกวิชาทหารเรียนอะไรบ้าง ?

เดินแถวทั้ง 3 หลักสูตรเพื่อกลับกองร้อย

ช่วงสัปดาห์แรกจะเป็นเรื่องของงานธุรการและการฝึกทบทวนการฝึกบุคคลท่ามือเปล่า ฝึกแถวชิด (เป็นช่วงของการปรับตัวจริง ๆ ต้องอยู่ในระเบียบวินัยทหาร)

นำเสนอหน้าชั้นเรียนในบางรายวิชา

สัปดาห์ที่ 2 – 3 จะเป็นการเรียนวิชาตามเหล่าในห้องเรียน และมีศึกษาดูงานนอกสถานที่

วิชาแผนที่

ส่วนสัปดาห์สุดท้ายจะเป็นการเตรียมตัวฝึกภาคสนาม 3 วัน 2 คืน หลังจากภาคสนามจะมีการแข่งขันกีฬาระหว่างนักเรียนและครู ส่วนในวันสุดท้ายจะมีพิธีปิดและมอบเกียรติบัตร

พิธีมอบประกาศเกียรติคุณและปิดการศึกษา
ธง กสร. ประจำหลักสูตร
ธงกำลังพลสำรองประจำหลักสูตร พ.ศ. 2565

ในรุ่นของผู้เขียนจะมีธงกำลังพลสำรองประจำหลักสูตรเป็นปีแรกด้วยนะครับ ดังนั้นในวันแรกจะมีพิธีอันเชิญธงและวันสุดท้ายจะเป็นพิธีคืนธงด้วยครับ

สรุป

สุดท้ายนี้หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับเหล่า กสร. อย่างพวกเราที่ต้องการฝึกเลื่อนยศ-ฐานะ ที่เป็นโอกาศครั้งหนึ่งในชีวิต เป็นประสบการณ์ที่ดี เล่าให้ลูก ๆ หลาน ๆ ฟังได้ อย่ามุ่งหวังการฝึกเพื่อเอายศมาทำเท่หรือใช้ในการโอ้อวด (ซึ่งไร้ประโยชน์) แต่การฝึกขอให้เป็นประสบการณ์ชีวิตและเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมตามระเบียบกระทรวงกลาโหมและที่สำคัญได้เพื่อนใหม่ ๆ มิตรภาพดี ๆ กลับไป

เหตุผลการเขียนบทความนี้เนื่องจากผู้เขียนเองเคยประสบปัญหาการหาข้อมูลที่ค่อนข้างยาก และกระจัดกระจายดังนั้นผู้เขียนจึงใช้ประสบการณ์ของตนเองมาบอกต่อเพื่อเป็นประโยชน์ต่อไป หากข้อมูลมีความผิดพลาดประการใด ผู้อ่านสามารถแจ้งกับผู้เขียนได้เลยนะครับ จักขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งครับ

คำเตือน

การติดเครื่องหมายในเครื่องแบบต่าง ๆ ควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนจะติด ไม่ควรติดเครื่องหมายกิติมศักดิ์หรือเครื่องหมายใด ๆ ที่ไม่ได้ผ่านการฝึกมาหรือไม่ได้มีใบรับรองใด ๆ อาจจะทำให้ผิดกฎหมายแล้วยังทำให้ภาพลักษณ์ของ กสร. อย่างเรา ๆ ดูไม่ดีไปด้วย

เครดิตรูปภาพ

ขอขอบคุณรูปภาพสวย ๆ จากหมวดซุปและช่างกล้องประจำหลักสูตรผู้บังคับกองร้อย

I'm just an ordinary member of Homo sapiens.